
ว่าด้วย… การสั่ง “กาแฟ” แล้วไม่ได้ “กาแฟ”
กาลครั้งหนึ่งไม่นานมานี้ผมมีโอกาสได้ไปเที่ยวอิตาลี่ครับ เมื่อไปถึงประเทศแห่งวัฒนธรรมกาแฟเก่าแก่แห่งนี้แล้ว ผมก็อดไม่ได้ที่จะจัดตารางเข้าๆออกๆเข้าๆออกๆร้านกาแฟแบบไม่หยุดหย่อน
ร้านแรกเป็นร้านกาแฟใกล้ที่พักในกรุงโรม ร้านดูน่าเชื่อถือ บุคลากรดูเก่าแบบเก๋าๆ ผมสั่งลาเต้ร้อน พี่บาริสต้าเสิร์ฟ “นมร้อน” ขาวสะอาดมาเลยครับหนึ่งแก้ว ผมเก้อๆอายๆกับสิ่งที่ผมคิดว่าเป็น “กำแพงทางภาษา” ก็เลยไม่ได้แก้พี่แก ดื่มนมแก้วนั้นแบบเขินๆจนหมด จ่ายเงินแล้วเดินออกไปคาเฟ่ข้างๆทันทีเพื่อแก้ตัวและรับคาเฟอีนช็อตแรกของวัน ผมสั่ง “ลาเต้ร้อน” อีกครับ (สั่งด้วยภาษาอังกฤษว่า “1 hot latte”) …และแล้วก็มาครับ …นมร้อนขาวสะอาดแก้วที่ 2 ซึ่งตอนนี้ผมเอะใจแล้วครับ น่าจะมีความผิดพลาดทางเทคนิคเล็กน้อย พอเปิด Google ดูเท่านั้น ผมถึงเข้าใจว่าพี่เค้าไม่ผิดครับ ผมผิดเอง
…และนั่นเป็นที่มาของโพสท์นี้ครับ ผมตามหาคำแปลตรงตัวของคำศัพท์เกี่ยวกับกาแฟภาษาอิตาเลี่ยนที่ใช้ทับศัพท์บ่อยมากๆในทุกภาษาทั่วโลก บ่อยซะจนบางทีความหมายก็เพี้ยนไป คำศัพท์ก็ถูกย่อลงไปบ้าง ถูกดัดแปลงวิธีใช้ไปบ้าง แต่เมื่อเราเข้าใจความหมายของมันก็ทำให้อ่านเมนูกาแฟได้ง่ายขึ้น และอาจทำให้เข้าใจบาริสต้าหลายๆคนมากขึ้นด้วยครับว่าพวกเค้าพยายามจะเสิร์ฟอะไรให้เรา
หวังว่าจะเป็นประโยชน์นะครับ
__________________________________
Espresso | เอส-เปรส-โซ่
Translation : press, pressed
คำแปล : กด, ดัน
– สื่อถึงกาแฟที่เกิดจากการดัน หรือการกดไอนำ้อุณหภูมิสูงมากผ่านผงกาแฟละเอียดยิบ ออกมาเป็นกาแฟที่ถึงแม้
จะมีปริมาณน้อยแต่ก็มีความเข้มข้นมาก
ในประเทศอิตาลี วัฒนธรรมการดื่มกาแฟของเค้าจะหนักไปกับการดื่มกาแฟจากเครื่องเอสเปรสโซ่ เพราะฉะนั้นเมื่อสั่งว่า “caffe” หรือ “กาแฟ” ในภาษาอิตาเลียน ทุกคนก็มักคาดหวังว่าจะได้กาแฟช็อตเล็กๆที่ถูกสกัดออกมาจากเครื่องเอสเปรสโซ่นี้กันไปโดยปริยาย ซึ่งทำให้เฉพาะในประเทศอิตาลี คำว่า “caffe” มีความหมายใช้แทนคำว่า “espresso” ไปเลย
“espresso” ซึ่งจริงๆแปลตรงตัวมาจากรากศัพท์ภาษาลาตินว่า “pressed out” ก็หมายถึงกาแฟที่ถูกกดออกมา(ด้วยแรงดันสูงจากในเครื่องเอสเปรสโซ่)นั่นเอง เมื่อกดออกมาเป็นช็อตกาแฟเล็กๆที่เข้มข้นนี้ หลายคนในอิตาลีก็ดื่มแบบบั้นเพียวๆ แต่ก็มีการนำมาทำเป็น base เมนูกาแฟอื่นๆ เช่น caffe latte (กาแฟ/เอสเปรสโซ่ ใส่นม) และ (กาแฟ/เอสเปรสโซ่ ใส่นมหน่อยนึงข้างบน) เป็นต้น
ทั้งนี้หลายๆคนอาจจะบอกว่า “espresso” น่าจะมีรากคำเดียวกับคำว่า “express” รึป่าว? ก็มีความถูกต้องครับ เพราะคำว่า “express” จริงๆก็มีความหมายไปในทางเดียวกันก็คือ
“ex” ซึ่งแปลว่า “out/ออกมา”
“press” ซึ่งแปลว่า “บีบ, กด, คั้น”
แต่ทั้งนี้อยากแปลแล้วแปลอีกว่า “espresso = pressed out” มากกว่าครับ เพราะคำว่า “express” ในภาษาอังกฤษเกรงว่าอาจจะแปลไปในอีกทางหนึ่งด้วย (หมายถึง “สื่อสาร แสดงออก”)
อีกทฤษฎีหนึ่งที่บอกว่า “espresso” น่าจะมาจากรากศัพท์เดียวกับ “express” ที่แปลว่า “รวดเร็ว” อันนี้ผมหาหลักฐานอ้างอิงไม่ค่อยเจอจริงๆครับ เคยได้ยินมาเหมือนกันแต่ยังไม่ปักใจเชื่อ อยากจะรบกวนผู้รู้บอกทีครับ
__________________________________
Doppio | ด๊อป-ปิ-โอ้
Translation : double
คำแปล : คูณสอง, สองเท่า
– สื่อถึงปริมาณกาแฟเอสเปรสโซ่ขนาด 2 แก้วช็อตที่ออกมาจากการสกัดเพียงครั้งเดียว ซึ่งนับเป็น 2 เท่าของขนาดเอสเปรสโซ่โดยปรกติ
__________________________________
Ristretto | ริส-เตร็ด-โต้
Translation : restricted
คำแปล : อย่างจำกัด
– สื่อถึงวิธีการสกัดช็อตเอสเปรสโซ่ ”อย่างจำกัด” โดยที่ปล่อยให้กาแฟไหลลงเป็นเวลาสั้นกว่าปรกติ ประกอบกับ
การใช้กาแฟที่บดละเอียดกว่าปรกติด้วย ทำให้ได้ช็อตกาแฟที่เล็กมากแต่เต็มไปด้วยรสชาติ และมีความขมน้อย
__________________________________
Lungo | ลุง-โก้
Translation : long
คำแปล : ยาว
– สื่อถึงวิธีการสกัดช็อตเอสเปรสโซ่ที่ปล่อยให้กาแฟไหลลงเป็นเวลานานกว่าช็อตเอสเปรสโซ่ปรกติ ซึ่งก็ทำให้ได้ปริมาณกาแฟที่มากกว่า จางกว่า แต่จะมีรสขมสกัดออกมามากกว่า ซึ่งในภาษาอังกฤษเรียกการสกัดแบบนี้ว่า “long pull”
__________________________________
Latte | ลาต-เต้
Translation : milk
คำแปล : นม
– สื่อตรงตัวถึงการใส่นมลงในเมนูกาแฟใดๆก็ตาม ซึ่งถึงแม้ในประเทศไทยและหลายๆประเทศ การสั่งว่า “latte” เฉยๆ
จะหมายถึงกาแฟใส่นม แต่ในประเทศอิตาลี่ เมื่อคุณสั่งว่า “latte” เฉยๆ สิ่งที่คุณจะได้จะเป็นแก้วใส่นมเปล่าๆเท่านั้น
__________________________________
Con Panna | คน-ปาน-น่า
Translation : with cream
คำแปล : กับครีม, ใส่ครีม
– สื่อถึงการเติมครีมลงในเมนูกาแฟใดๆก็ตามโดยเฉพาะการใส่วิปครีมลงในช็อตกาแฟเอสเปรสโซ่แบบอิตาเลี่ยนดั้งเดิม ซึ่งในบางที่กาแฟชนิดนี้ี่อาจถูกเรียกด้วยชื่ออื่น เช่น “กาแฟเวียนนา” เป็นต้น
__________________________________
Macchiato | มัค-คี-อา-โต้
Translation : stain, dot, mark
คำแปล : เป็นรอย, เป็นจุด, เป็นด่าง
– สื่อถึงการเติมนมปริมาณไม่มากลงในช็อตเอสเปรสโซ่ โดยที่นมปริมาณดังกล่าวจะเห็นเป็นเเพียงรอยจุดกลมๆ
เล็กๆบนผิวหน้ากาแฟเท่านั้น ไม่ได้คลุมหน้ากาแฟทั้งหมด
__________________________________
Americano| อา-เม-ริ-กา-โน่
Translation : americano
คำแปล : แบบอเมริกัน
– สื่อถึงกาแฟที่คนอิตาเลี่ยนมองว่าเป็นกาแฟสไตล์อเมริกัน กล่าวคือคนอเมริกันมักเคยชินกับกาแฟแบบฟิลเตอร์ซึ่งเจือจางกว่าช็อตเอสเปรสโซ่แบบอิตาเลี่ยน เมื่ออยู่ในประเทศอิตาลี่ซึ่งกาแฟแบบฟิลเตอร์ไม่เป็นที่แพร่หลายนัก คนอิตาเลี่ยนจึงใช้วิธีการสกัดช็อตเอสเปรสโซ่ธรรมดาแล้วผสมน้ำร้อนแทนให้
__________________________________
Affogato | อัฟ-โฟ-กา-โต้
Translation : drown
คำแปล : จม
– สื่อถึงเมนูของหวานผสมกาแฟที่เกิดจากการทำให้สกู๊ปไอศกรีมวานิลลาจมลงในกาแฟเข้มข้นโดยการเทช็อตกาแฟเอสเปรสโซ่ราดลงบนก้อนไอสกรีมนั่นเอง
__________________________________
**…คำแปลเหล่านี้ผมและทีมปะติดปะต่อด้วยการอ่านจากหลายๆที่ หากมีข้อมูลผิดพลาด อยากรบกวนท่านผู้มีความรู้แนะนำเพิ่มเติมครับ
อาจจะยังมีอีกหลายๆคำที่ไม่ได้รวมเอาไว้ในโพสท์นี้นะครับ อย่างเช่นคำว่า Cappuccino, Frappe, Mocha และ Piccolo นั่นเป็นเพราะที่มาของคำเหล่านี้อาจจะไม่ได้มาจากชุดภาษาอิตาเลี่ยนโดยตรง หรือบางอันมีเรื่องเล่าที่ซับซ้อนมากกว่าแค่การแปลตรงตัวครับ
ครั้งหน้าถ้ายังมีคนสนใจ ผมหวังว่าจะได้มีโอกาสตามล่าเรื่องราวเหล่านี้มาเล่าให้ฟังอีกครับ
ด้วยรักและคาเฟอีน
ทีม Metacup